Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ดาวอังคารใกล้โลก

ดาวอังคารใกล้โลก

วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)
นับจากเวลาประมาณ 19.00 น. ไปจนถึงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เราจะมองเห็นดาวอังคารสว่างข่มแสงดาวดวงอื่น ๆ บนท้องฟ้า ปีนี้เป็นที่ค่อนข้างพิเศษสำหรับดาวอังคาร เนื่องจากวันที่ 27 สิงหาคม 2546 ตัวเลขระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารบ่งบอกว่าโลกและดาวอังคารมีระยะใกล้กันมากที่สุดในรอบหลายหมื่นปี แต่อย่างไรก็ดีโดยปกติดาวอังคารจะใกล้โลกเป็นพิเศษอยู่แล้วทุก ๆ ประมาณ 15 ปี หรือ 17 ปี เพียงแต่ปีนี้จะใกล้มากขึ้นอีกเล็กน้อย นักดาราศาสตร์สมัครเล่นและผู้สนใจควรจะหาเวลาในช่วงนี้ที่จะดูดาวอังคารก่อนจะถึงวันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลานั้น อาจมีโอกาสที่จะดูดาวอังคารได้ไม่มากนักเพราะท้องฟ้าอาจปิดเนื่องจากเมฆฝน
โลกและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบที่แตกต่างกัน เราเรียกจังหวะเวลาที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารโคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลางว่าดาวอังคารมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ช่วงเวลาที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดนั้น ดาวอังคารจะขึ้นทางทิศตะวันออกขณะที่ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก และปรากฏอยู่บนฟ้าตลอดทั้งคืนจนกระทั่งคล้อยต่ำลงและตกทางทิศตะวันตกขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด โดยเฉลี่ยดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ทุก ๆ ประมาณ 2 ปี
แต่ละครั้งที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดาวอังคารจะมีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรที่เป็นวงรีค่อนข้างมาก ขณะที่ดาวอังคารอยู่ที่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 207 ล้านกิโลเมตร แต่เมื่อถึงตำแหน่งไกลดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 249 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นหากดาวอังคารมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารก็จะมีระยะห่างที่ใกล้โลกมากเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้ดาวอังคารสว่างและมีขนาดใหญ่กว่าในช่วงเวลาอื่น ๆ เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ ครั้งล่าสุดที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2531 และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนสิงหาคมของปีนี้
นิตยสารดาราศาสตร์ Sky & Telescope ฉบับเดือนมิถุนายนรายงานว่า ข้อมูลผลคำนวณโดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์ท้องฟ้าในอิตาลีแสดงว่า ดาวอังคารเคยเข้าใกล้โลกมากกว่าการเข้าใกล้ในปีนี้เมื่อปี 57,617 ก่อนคริสต์ศักราช และจะเข้าใกล้มากกว่าครั้งนี้อีกเล็กน้อยในปี ค.ศ. 2287 นั่นหมายความว่าโลกและดาวอังคารไม่เคยเข้าใกล้กันมากเท่านี้มาเกือบ 60,000 ปีแล้ว แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวดูจะน่าตื่นเต้น แต่ความจริงก็คือ ในทางปฏิบัติขนาดปรากฏที่มองเห็นได้นั้นไม่ต่างกันหรือมีนัยสำคัญที่พิเศษกว่ากันมากมายแต่อย่างใด หลังจากนี้ไป เรายังสามารถมองเห็นดาวอังคารด้วยขนาดปรากฏใกล้เคียงกับปีนี้ในอีก 15 ปีข้างหน้า
ในอดีตซึ่งเป็นยุคสมัยที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล หรือยานอวกาศที่ไปโคจรรอบดาวอังคารอย่างในปัจจุบัน นักดาราศาสตร์จะใช้ช่วงเวลาที่ดาวอังคารใกล้โลกในการสังเกตร่องรอยและทำแผนที่พื้นผิวดาวอังคาร พร้อมทั้งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลบนดาวอังคารจากสีสัน ขนาดของผืนน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคาร และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของดาวอังคารให้ได้มากที่สุด
ท่านที่ไม่มีกล้องโทรทรรศน์หรือไม่รู้จักกลุ่มดาวบนท้องฟ้าก็สามารถมองเห็นดาวอังคารได้ด้วยตาเปล่าและไม่ยากเกินไป เพราะปีนี้ดาวอังคารจะเป็นดาวเคราะห์ที่สว่าง ปรากฏมีสีส้มไม่กระพริบแสงหรือกะพริบน้อยมากต่างจากดาวฤกษ์ทั่วไป ต้นเดือนสิงหาคมดาวอังคารจะขึ้นเหนือท้องฟ้าก่อนเวลา 21.00 น. ทางทิศตะวันออกค่อนไปทางทิศใต้เล็กน้อย แล้วเคลื่อนสูงขึ้นจนไปอยู่สูงบนท้องฟ้าทางทิศใต้ในเวลาประมาณ 2.00 น. และเริ่มคล้อยต่ำลงไปทางทิศตะวันตกในเวลาเช้ามืด แต่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะเริ่มเห็นดาวอังคารได้ตั้งแต่เวลาก่อน 19.00 น. เล็กน้อย และอยู่สูงสุดบนท้องฟ้าในเวลาราวเที่ยงคืนครึ่ง

ระยะห่างและขนาดปรากฏของดาวอังคารขณะใกล้โลกมากที่สุด พ.ศ. 2531-2561
วัน เดือน ปีเวลา (ไทย)ระยะห่าง
(AU)*
ขนาดปรากฏ
(พิลิปดา)
โชติมาตร
22 กันยายน 253110 น.0.3931523.81-2.7
20 พฤศจิกายน 253311 น.0.5169218.11-2.0
3 มกราคม 253620 น.0.6260914.95-1.4
11 กุมภาพันธ์ 253821 น.0.6756913.85-1.2
21 มีนาคม 25400 น.0.6593814.20-1.3
2 พฤษภาคม 25420 น.0.5784616.18-1.6
22 มิถุนายน 25446 น.0.4501720.79-2.3
27 สิงหาคม 254617 น.0.3727225.11-2.9
30 ตุลาคม 254810 น.0.4640620.17-2.3
19 ธันวาคม 25507 น.0.5893515.88-1.6
28 มกราคม 25532 น.0.6639814.10-1.3
6 มีนาคม 25550 น.0.6736813.89-1.2
14 เมษายน 255720 น.0.6175615.16-1.4
31 พฤษภาคม 25594 น.0.5032118.60-2.0
31 กรกฎาคม 256115 น.0.3849624.31-2.8

หมายเหตุ : * 1 หน่วยดาราศาสตร์ (1 AU) เท่ากับระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ มีค่าประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร


ตำแหน่งดาวอังคารบนท้องฟ้า เวลา 23.00 น. ของวันที่ 27 สิงหาคม 2546ดาวอังคารมีวงโคจรเป็นรูปวงรีรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารขณะเข้าใกล้กันมากที่สุดแต่ละครั้งมีค่าแตกต่างกัน